Skip to main content

หน้าหลัก

UAE จับกุมผู้ละเมิดวีซ่ากว่า 6,000 ราย หลังจากสิ้นสุดโครงการนิรโทษกรรม

               เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 โดยหน่วยงานรัฐบาลกลางเพื่อการระบุตัวตน ความเป็นพลเมือง ศุลกากร และการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือ (Federal Authority for Identity, Citizenship, Customs and Port Security: ICP) พล.ต. สุฮาอิล ซาอีด อัล ไคลี ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของรัฐบาลกลาง (ICP) กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ดำเนินการรณรงค์ตรวจสอบ กวาดล้าง จับกุม ผู้อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายมากกว่า 270 ครั้ง โดยได้จับกุมผู้ละเมิดวีซ่ากว่า 6,000 ราย ขณะนี้กำลังดำเนินการเนรเทศผู้ละเมิดกว่าร้อยละ 93 ภายใต้โครงการ “สู่สังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น” ซึ่งจัดขึ้นตลอดเดือนมกราคม 2568                                      สำหรับ “การตรวจสอบ กวาดล้าง จับกุมจะยังคงดำเนินต่อไป ขอแนะนำให้ประชาชนอย่ามองข้ามการละเมิดหรือกลายเป็นผู้ละเมิดในเรื่องดังกล่าว”

              เนื่องจากทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ เพราะกระบวนการที่มีอยู่เพียงพออยู่แล้ว

             โดยในช่วงเวลาผ่อนผัน นับจากวันที่ 1 กันยายน – 31 ธันวาคม 2567 ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโอกาสในการออกจากประเทศโดยไม่ถูกห้ามเข้าประเทศอีกครั้ง (ไม่ถูกแบน) หรือได้รับสัญญาจ้างงานฉบับใหม่ และสามารถอยู่อาศัยใน UAE ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยได้รับการยกเว้นค่าปรับ ซึ่งโครงการนี้ช่วยให้บุคคลจำนวนมากสามารถแก้ไขสถานะของตนได้หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผัน

               หน่วยงาน ICP จะเพิ่มความเข้มงวดในการรณรงค์ ตรวจสอบผู้ละเมิด ดำเนินการเนรเทศและเข้มงวดตามมาตรการ โดยรวมถึงผู้ที่อยู่ในรายชื่อห้ามเข้า

               ทั้งนี้ พลจัตวาซาอีด ซาเล็ม อัช ชัมซี รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายอัตลักษณ์และกิจการคนต่างชาติของ ICP กล่าวว่า การรณรงค์ตรวจสอบดังกล่าวดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจะถูกปรับ และถูกดำเนินคดี รวมถึงผู้ที่ให้ที่พักพิงหรือจ้างงานพวกเขาด้วย จะไม่มีการยกเว้นต่อผู้ฝ่าฝืนกฎหมายและผู้ที่อำนวยความสะดวกให้พวกเขาพำนักอย่างผิดกฎหมาย

              กฎหมายการเข้าเมืองและถิ่นที่อยู่ของชาวต่างชาติลงโทษผู้ที่ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก

              หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดถิ่นที่อยู่

              โดยต้องถูกจำคุกและปรับไม่น้อยกว่า 10,000 ดีแรห์ม (ประมาณ 100,000 บาท)

              หากบุคคลใดจ้างผู้ฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ (sponsor) ผู้ฝ่าฝืนดังกล่าวจะถูกปรับ 50,000 ดีแรห์ม (ประมาณ 500,000 บาท) หากพบว่าผู้ฝ่าฝืนกฎหมายทำงานให้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สนับสนุน (ไม่ใช่นายจ้างตามวีซ่าที่ sponsor)

             ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจะถูกกักขังและถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย รวมทั้งจำคุก ถูกเนรเทศ และห้ามเข้าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างถาวร

               จากข้อมูลการออกหนังสือเดินทางฉุกเฉิน (ETD) ของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ พบว่า ช่วงโครงการนิรโทษกรรม ระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 มีคนไทยยื่นขอการออกหนังสือเดินทางฉุกเฉิน (ETD) ด้วยเหตุหนังสือเดินทางหาย/หมดอายุ จำนวน 291 ราย และมีคนไทยถูกจับกุม จำนวน 196 ราย

               ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี มีความห่วงใยคนไทยในมาตรการดังกล่าว ขอให้ผู้ที่ละเมิดการอยู่เกินวีซ่าเร่งดำเนินการชำระค่าปรับ เปลี่ยนสถานะวีซ่า และเดินทางออกจาก UAE โดยไม่ถูกทางการ UAE จับกุม ดำเนินคดี และถูกเนรเทศต่อไป


1302
TOP