1. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี (United Arab Emirates-UAE) เกิดการจากการรวมชาติของชาวอาหรับที่ได้รับการช่วยเหลือจากอังกฤษ ตั้งขึ้นเป็นประเทศในลักษณะสหพันธรัฐ (Federation) ตั้งแต่ปี 2514 หรือเมื่อ 40 ปีก่อน ประกอบด้วย 7 รัฐ ได้แก่ อาบูดาบี (Abu Dhabi) ดูไบ (Dubai) ชาร์จาห์ (Sharjah) อัจมาน (Ajman) ราสอัลไคมาห์ (Ras Al Kaimah) ฟูไจราห์ (Fujeirah) และอุมม์อัลไคเวน (Umm Al Quwain) มีการปกครองแบบราชาธิปไตย โดยมีเจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี คือ เชค คอลิฟะห์ บิน ซายิด อาล นะห์ยาน (H.H. Sheikh Khalifa bin Zayed Al Nahyan) เป็นประธานาธิบดี และเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ เชค โมฮัมเมด บิน ราชิด อาลมัคทูม (H.H. Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum) เป็นรองประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี มีกรุงอาบูดาบีเป็นเมืองหลวงอยู่ในรัฐอาบูดาบี ซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่และมีความมั่งคั่งมากที่สุดในประเทศ ในขณะที่รัฐดูไบเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว การเงินการธนาคาร และการขนส่ง การกระจายสินค้า และการส่งออกที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ประชากร ยูเออีมีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 8.26 ล้านคน เป็นชาวยูเออีประมาณร้อยละ 25 และชาวต่างชาติร้อยละ 75 โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากอินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และจากกลุ่มประเทศอาหรับด้วยกัน ภาษาราชการของยูเออีคือภาษาอาหรับ แต่ก็มีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างกว้างขวาง สกุลเงินที่ใช้คือดีแรห์ม (Dirham) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดีแรห์ม เท่ากับประมาณ 8.10 บาท (เมษายน 2556)
สภาพภูมิอากาศ ยูเออีมี 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูหนาว เนื่องจากยูเออีเป็นประเทศเขตทะเลทรายที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่อากาศจึงร้อนจัด มีฝนตกน้อยมาก มีพายุทรายช่วงเปลี่ยนฤดู ในช่วงเดือน มิ.ย. – ส.ค. อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 36-55 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด
สภาพเศรษฐกิจ ยูเออีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในภูมิภาค รายได้หลักมาจากน้ำมันปิโตเลียมและก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณน้ำมันดิบ สำรองเป็นลำดับที่ 4 ของโลก ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมภาคอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มรายได้โดยลดการพึ่งพาน้ำมัน และส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยสนับสนุนให้ต่างชาติมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Free Zone)
2. รัฐกาตาร์
ประชากร 1.95 ล้านคน (ปี 2555) เป็นชาวกาตาร์เชื้อสายเบดูอินประมาณ 80,000 คน ที่เหลือเป็นแรงงานจากต่างประเทศ ชาวอินเดีย เนปาล ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน บังคลาเทศ ฯลฯ ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลายในการติดต่อธุรกิจ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่
สภาพอากาศ ภูมิอากาศแบบทะเลทราย ช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส เกิด พายุทรายได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน –มิถุนายน
สภาพเศรษฐกิจ
กาตาร์มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 7.6 (ปี 2555) และมีรายได้ประชาชาติต่อหัว 61,532 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน (ปี 2555) ซึ่งจัดว่าสูงที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง เศรษฐกิจกาตาร์ประมาณร้อยละ 63 ขึ้นอยู่กับภาคพลังงาน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบัน กาตาร์สามารถผลิตน้ำมันได้ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และกาตาร์มีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่ประมาณ 27.5 พันล้านบาร์เรล ซึ่งประเมินว่ากาตาร์จะสามารถผลิตน้ำมันในระดับปัจจุบันได้อีกเป็นเวลา 65 ปี (ในระดับการผลิตในปัจจุบัน) นอกจากนี้ กาตาร์ยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกก๊าซ LNG รายใหญ่ที่สุดของโลก (77 ล้านตัน/ปี)
กาตาร์มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับสามของโลก รองจากรัสเซียและอิหร่าน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณ Offshore North Field และเป็นประเทศที่ส่งออก Liquefied Natural Gas (LNG) มากที่สุดในโลกกาตาร์ รัสเซียและอิหร่านได้ร่วมกันจัดตั้งกลไก Gas Troika เพื่อประสานความร่วมมือด้านราคาก๊าซ ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกรองจากน้ำมัน โดยต้องการแยกราคาก๊าซออกจากตลาดน้ำมัน รวมทั้งสร้างกฎเกณฑ์ราคาขึ้นใหม่ อย่างไรก็ดี การจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวทำให้กลุ่มสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ เกิดความกังวลว่าเป็นภัยคุกคามทางพลังงาน อาจมีการผูกขาดการผลิตก๊าซ และเกรงว่าสมาชิกของกลุ่ม (รัสเซีย และอิหร่าน) อาจใช้ธุรกิจก๊าซแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากนี้ กาตาร์ยังได้ริเริ่มดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่อส่งก๊าซ Dolphin Project เชื่อมโยงกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน รวมถึงการเร่งสั่งต่อเรือขนาดใหญ่สำหรับบรรทุก LNG จำนวนมาก
รัฐบาลกาตาร์มีนโยบายสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (Economic diversification) นโยบายแปรรูปกิจการของรัฐ (Privatization) และนโยบายผ่อนคลายกฎระเบียบและเปิดเสรี (Deregulation-Liberalization) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในสาขานอกเหนือจากภาคพลังงาน
ด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้าง กาตาร์มีนโยบาย Qatar National Vision 2030 ซึ่งเป็น ยุทธศาสตร์ที่เน้นโครงการก่อสร้าง World-class infrastructure ขนาดใหญ่รวมมูลค่าประมาณ 130 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการที่สำคัญได้แก่ การขยายการก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี และ GTL การก่อสร้างสนามบิน New Doha International Airport โครงการอสังหาริมทรัพย์ Pearl Qatar การก่อสร้าง Energy City, Education City, Science and Technology Park, Hamad Medical City, The Sport City, The Entertainment City โดยทิศทางและแนวโน้ม (trend) การก่อสร้างและออกแบบในกาตาร์จะเป็นแบบ “Green Building” ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จากการที่กาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 2022 กาตาร์ มีโครงการที่จะสร้างสนามฟุตบอลใหม่จำนวน 9 สนามและปรับปรุงสนามที่มีอยู่ รวมเป็นมูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งจะลงทุนสร้างโครงสร้างการคมนาคมขนส่งและห้องพักโรงแรมมากว่า 65,000 ห้อง โดยมีมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กาตาร์มีเงินในกองทุน Sovereign Wealth Fund (SWF) เป็นอันดับ 13 ของโลก โดยมี มูลค่าทรัพย์สินประมาณ 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ Merrill Lynch คาดว่า ในปี 2553 กองทุน SWF ของกาตาร์จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า ทั้งนี้ Qatar Investment Authority (QIA) เป็นองค์กรหลักในบริหาร SWF โดยมีบริษัทลูกกระจายตัวลงทุนในธุรกิจภาคต่าง ๆ อยู่ทั่วโลก มกุฏราชกุมารกาตาร์ และ Sheikh Hamad Bin Jassem Bin Jabor Al –Thani นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้บริหาร
สถาบัน Standard & Poor (S&P) ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของกาตาร์อยู่ที่ระดับ AA และระดับเสถียรภาพอยู่ที่ระดับ AA + เนื่องมาจากความเข็มแข็งของงบประมาณและเศรษฐกิจ ทั้งนี้ภาคส่วนธุรกิจการก่อสร้างได้มีส่วนในการช่วยขยายเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากกาตาร์มีโครงการก่อสร้างมูลค่ามากกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรับรองการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ค.ศ. 2022
รัฐบาลมีนโยบายที่จะลงทุนเงินจำนวน 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 10 ปี ข้างหน้าเพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากาตาร์รวม 1.8 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศคิดเป็นเงินจำนวน 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังมีแผนที่จะเปิดใช้ท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่กรุงโดฮา มูลค่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะสามารถเปิดใช้ได้ในปี 2555
ธุรกิจอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติของกาตาร์ขึ้นอยู่กับอัตราการเจริญเติบโตของการบริโภคก๊าซของโลก ดังนั้นกาตาร์จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงยุทธศาตร์การผลิตก๊าซฯ อยู่เป็นระยะ ๆ โดยปัจจุบันตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ ยุโรปเหนือและเอเชียเป็นหลัก
3. รัฐสุลต่านโอมาน
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของคาบสมุทรอาระเบีย ติดกับทะเลอาระเบียและอ่าวโอมาน และใกล้ช่องแคบ Hormuz ซึ่งเป็นทางเข้าสู่อ่าวอาหรับ ด้านตะวันตกติดกับซาอุดีอาระเบียสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมนลักษณะของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายและภูเขามีชายฝั่งทะเลยาว 2,092 กิโลเมตร
ประชากร 3.29 ล้านคน (2553) ร้อยละ 82 นับถือศาสนาอิสลาม (สำนัก Ibadhi เป็นส่วนมาก และ นิกายสุหนี่และชีอะต์อีกเล็กน้อย) ร้อยละ 12 นับถือศาสนาฮินดูและคริสต์ ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย
เมืองหลวง กรุงมัสกัต (Muscat)
เมืองสำคัญ Matrah, Ruwi, Nizwa, Salalah, Sohar
หน่วยเงินตรา โอมานริยาล (Omani Rial) 1 ริยาล ประมาณ 79.47 บาท
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 53.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2553)
รายได้ประชากรต่อหัว 16,270 ดอลลาร์สหรัฐ (2553)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 4.1 (2553)
ระบอบการปกครอง ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช มีสุลต่าน กอร์บูส บิน ซาอิด (Qaboos bin Said) เป็นประมุขและมีอำนาจสูงสุด ทรงใช้อำนาจการบริหารเป็นคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) ซึ่งในด้านนิติบัญญัติ มีสภาโอมาน (Council of Oman) ทำหน้าที่เป็นเสมือนรัฐสภา ประกอบด้วยสภาสูง (Majlis Addawla หรือ State Council) ซึ่งสุลต่านแต่งตั้งจำนวน 58 คน และสภาล่าง (Majlis Ash’Shura หรือ Consultation council) จากการเลือกตั้งจำนวน 83 คน (การเลือกตั้งครั้งแรกมีขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2540) ทั้งสองสภาทำหน้าที่กลั่นกรองร่างกฎหมาย ให้ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจ และสังคมแก่รัฐบาล แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ
สภาพเศรษฐกิจ
เดิมโอมานมีภาคเกษตรและประมงเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันตั้งแต่ปี 2510 (ค.ศ. 1967) ทำให้มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบเป็นอันมาก ทำให้สามารถพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โอมานได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่รวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในโลกอาหรับ
ปัจจุบันโอมานจะมีปริมาณน้ำมันสำรอง 4.85 พันล้านบาร์เรล (ปี 2550) มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรอง 795.2 พันล้านคิวบิกเมตร (2550) โดยโอมานพบก๊าซธรรมชาติครั้งแรกเมื่อปี 2532 ในปี 2537 จึงมีการจัดตั้งบริษัท Oman LNG LLC ขึ้น โดยรัฐบาลโอมานถือหุ้นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 51) ปัจจุบันรัฐบาลโอมานมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมภาคก๊าซธรรมชาติในการสร้างรายได้ ลดการพึ่งพาการผลิตน้ำมันดิบ
รัฐบาลมีนโยบายขยายฐานเศรษฐกิจ (diversification) เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมสาขาอื่นที่มิใช่น้ำมัน โดยเฉพาะ ก๊าซธรรมชาติ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) นโยบายเหล่านี้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันโอมานอยู่ระหว่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 (2549-2553) ซึ่งส่งเสริมให้แรงงานคนชาติโอมาน (Omanization) เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น พร้อมทั้งการฝึกอาชีพและทักษะวิชาชีพในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมภาคบริการ (การท่องเที่ยว การโรงแรม การธนาคาร ฯลฯ) เพื่อลดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีอัตราการเพิ่มตัวของประชากรสูง และมีประชากรในวัยเรียน วัยทำงานเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ
โอมานมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ โดยกฎหมายอนุญาตให้บริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการได้ทั้งหมด ในโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 5 แสนริยาล (ประมาณ 50 ล้านบาท) และเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ได้ปรับผ่อนคลายกฎระเบียบ รวมทั้งเปิดสาขาทางเศรษฐกิจสำหรับต่างชาติให้กว้างขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแรงจูงใจอื่นๆ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้มาลงทุนในโอมาน อาทิ 5-year-tax holiday สำหรับภาคอุตสาหกรรมบางสาขา การลดภาษีรายได้ให้กับบริษัทต่างชาติที่ชาวโอมานถือหุ้นอย่างน้อยร้อยละ 51 และการให้กู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับการพัฒนาโครงการทางธุรกิจต่างๆ เป็นต้น ปัจจุบัน โอมานได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติที่เสรีมากที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวอาหรับ ทั้งนี้ โอมานไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีสรรพสามิต จะคงมีเก็บแต่เพียงภาษีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ
โอมานเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2543 ทำให้ภาครัฐและเอกชนโอมานต้องปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO
ขณะนี้โอมานเป็นสมาชิกในตลาดร่วมศุลกากร (GCC Customs Union) และได้เข้าร่วมเขตการค้าเสรีของประเทศอาหรับในกรอบขององค์การสันนิบาตอาหรับ (the Greater Arab Free Trade Organization Agreement) ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนมกราคม 2548
4. สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
ที่ตั้ง พรมแดนทางทิศใต้จรดกับอ่าวโอมานและอ่าวเปอร์เชีย ทิศตะวันออกจรดอัฟกานิสถานและปากีสถาน ทิศตะวันตกจรดอิรักและตุรกี ทิศเหนือจรดอาร์เซอร์ไบจาน เติร์กเมนิสถาน อาร์เมเนียและทะเลสาบแคสเปียน
พื้นที่ 1.648 ล้านตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงเตหะราน (Tehran)
ประชากร 75.1 ล้านคน (2553) ประกอบด้วยเชื้อชาติเปอร์เซีย ร้อยละ 51 อาเซอรี ร้อยละ 24 และเคิร์ด อาหรับ และเติร์กเมน ร้อยละ 24
ภูมิอากาศ มีภูมิอากาศแห้งแล้งสลับกึ่งแห้งแล้ง ตลอดชายฝั่งทะเลแคสเปียน มีภูมิอากาศแบบใกล้เขตร้อน
ภาษาราชการ ภาษาฟาร์ซี (Farsi) หรือภาษาเปอร์เซีย
ศาสนา ศาสนาอิสลาม (เป็นนิกายชีอะต์ร้อยละ 89 และนิกายสุหนี่ร้อยละ 9) ศาสนาคริสต์ ศาสนายิว และอื่นๆ ร้อยละ 2
ภาษา ภาษาฟาร์ซี (Farsi) หรือภาษาเปอร์เซีย เป็นภาษาราชการ
หน่วยเงินตรา เรียล อิหร่าน (IRR) อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท เท่ากับ 305 เรียล อิหร่าน (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 411.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2553)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 5,477.8 ดอลลาร์สหรัฐ (2553)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.9 % (2553)
อัตราเงินเฟ้อ 10 % (2553)
สินค้าส่งออกสำคัญ น้ำมัน 85% และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอิหร่านส่งออกประมาณ 3.56 พันล้านคิวบิกเมตร นอกจากนั้น อิหร่านยังส่งออก พรม ผลไม้ ถั่ว เหล็ก และเคมีภัณฑ์
ประเทศส่งออกที่สำคัญ จีน รัสเซีย EU ตุรกี UAE ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
สินค้านำเข้า วัตถุดิบอุตสาหกรรม สินค้าประเภททุน เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค อาวุธยุทธภัณ
สภาพเศรษฐกิจ
1. นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลของประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาดเป็นไปตามแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยม คือเน้นการกระจายรายได้ให้ผู้ยากไร้ การให้การบริการสวัสดิการสังคมแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและการสนับสนุนให้ภาคเอกชนอิหร่านมีบทบาททางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านเคารพในสัญญาด้านการค้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันกับบริษัทต่างชาติ และสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการขุดเจาะสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยมีโครงการในรูปแบบ สร้าง-บริหาร-ส่งมอบ (Built-Operate-Transfer: BOT) หรือโครงการซื้อคืนน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติที่ได้จากการขุดเจาะสำรวจ (Buy back)
2. ในด้านการค้ากับต่างประเทศ อิหร่านเน้นนโยบายรักษาดุลการค้าระหว่างประเทศและปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยมีการประเมินและปรับปรุงมาตรการนำเข้าในเดือนมีนาคมทุกปี ซึ่งถือเป็นการช่วงสิ้นปีตามปฏิทินอิหร่าน อย่างไรก็ดี อิหร่านไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) ซึ่งอำนวยให้อิหร่านสามารถปรับระบบภาษีได้อย่างเสรี และมีภาษีสินค้านำเข้าสูง
3. เศรษฐกิจอิหร่านได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกนำข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ ไปตีความให้ครอบคลุมการทำธุรกรรมในสาขาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับอาวุธและนิวเคลียร์ โดยสามารถเห็นได้จากอัตราค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อและอัตราว่างงานในอิหร่านที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อิหร่านได้ดำเนินนโยบายเสริมสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศเน้นการให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงาน ส่งผลให้ปัจจุบันอิหร่านยังคงทนรับแรงกดดันได้ เนื่องจากมีเงินทุนสำรอง 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และโดยที่มีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสำรองปริมาณมากเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม OPEC และที่ 4 ของโลก จึงมีรายได้จากส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งลงทุนทางเลือกในด้านพลังงานสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือแสวงหาตลาดใหม่ เช่น จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ เป็นต้น
86892