Skip to main content

หน้าหลัก

นโยบายต่างประเทศ

นโยบายต่างประเทศ
1. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศตะวันตกและมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ โดยรวมแล้วมักเลือกแสดงท่าทีและดำเนินนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงร่วมกัน ในกรอบภูมิภาคมากกว่าจะแสดงจุดยืนโดยลำพัง แต่ในระยะหลังได้แสดงท่าที ข้อคิดเห็นต่อประเด็นการเมือง ในภูมิภาคอย่างเปิดเผยมากขึ้น โดยเป็นหนึ่งในกลุ่ม Arab Quartet (ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์) ที่ตั้งขึ้นเพื่อประสานท่าทีระหว่างสมาชิกกลุ่มประเทศอาหรับกับกลุ่ม International Quartet ในเรื่องพัฒนาการและสถานการณ์ในภูมิภาค และเพื่อชี้แจงทัศนะและท่าทีของอาหรับโดยไม่ต้องการให้ International Quartet มีบทบาทนำฝ่ายเดียวในการกำหนดระเบียบวาระของกระบวนการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลาง

2. นโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีหลักการต่อต้านความรุนแรงและการรุกราน การส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ การไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศอื่น ๆ การส่งเสริมการเจรจาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ การสนับสนุนการดำเนินการที่ยุติธรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และการให้ความช่วยเหลือมิตรประเทศ

3. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีพันธมิตรทางการทหารในวงกว้าง โดยกองทัพเรือและกองทัพอากาศของสหรัฐฯ ใช้เป็นฐานขนส่งบำรุงกำลัง (ฐานทัพอากาศที่อาบูดาบีและท่าเรือเจเบล อาลี (Jebel Ali) ที่ดูไบ) ร่วมมือกับกองทัพในภูมิภาคและระหว่างประเทศ และมีการสั่งซื้ออาวุธสงครามที่ทันสมัยจากหลายประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีอู่ต่อเรือและซ่อมเรือรบของตนเอง คือบริษัท Abu Dhabi Ship Building (ADSB) และล่าสุด ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรตามลำดับ เพื่อวางกรอบความร่วมมือในเรื่องการสำรวจและใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ และความตกลงด้านความร่วมมือทางทหารกับฝรั่งเศสเพื่อให้ฝรั่งเศสตั้งฐานทัพถาวรในปี 2552 อนึ่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่ 4 ในตะวันออกกลางที่ประกาศแผนจะสร้างโรงงานนิวเคลียร์โดยเน้นย้ำจุดยืนว่าตนสนับสนุนสนธิสัญญาการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์และสนับสนุนให้ตะวันออกกลางปราศจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction; WMD)

4. แม้จะมีการขู่จากกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ แต่ยังไม่มีการปฏิบัติการก่อการร้ายเกิดขึ้น ขณะที่รัฐประกาศและให้ความมั่นใจว่าประเทศปลอดภัยจากการก่อการร้าย แต่ก็มีการออกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ารัฐมีความกังวลต่อความมั่นคงภายในประเทศ ทั้งนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ในกลุ่มประเทศที่กลุ่มก่อการร้ายอัลไคดาห์ (Al-Qaeda) ได้ประกาศว่าเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติการก่อการร้าย เนื่องจากเป็นรัฐที่ร่วมมือให้สหรัฐฯ ใช้ดินแดนของตนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร

5. ท่าทีและบทบาทของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเวทีระหว่างประเทศในปัจจุบัน
    5.1 พลังงานหมุนเวียน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และมีความภูมิใจอย่างยิ่งที่หลายประเทศต่างยกย่องว่า เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับนวัตกรรมเรื่องพลังงานหมุนเวียน จนได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของทบวงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency – IRENA) เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 และปัจจุบัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชา (President of the General Assembly) ของ IRENA นอกจากนั้นยังได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรี (Chair of the Council) สำหรับการประชุมคณะมนตรี IRENA ครั้งที่ 3 ในปี 2555

   5.2 โครงการปรมาณูของอิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีนโยบายต่อต้านการแพร่ของอาวุธนิวเคลียร์ในตะวันออกกลางและการกระทำอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในภูมิภาค โดยหวังว่า อิหร่านจะยึดถือการดำเนินการที่โปร่งใส แต่หวั่นเกรงว่าการพัฒนาปรมาณูดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพแวดล้อม ภายหลังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council – UNSC) ได้มีมติเห็นชอบต่อข้อมติ UNSC ที่ 1929 (2010) เพื่อคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เริ่มเข้มงวดกับการทำการค้ากับอิหร่านมากขึ้น

   5.3 ข้อพิพาทด้านดินแดนกับอิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังมีข้อพิพาทกับอิหร่านในเรื่องอธิปไตยเหนือเกาะ 3 เกาะ คือ เกาะอาบู มูซา (Abu Musa), เกาะทูมใหญ่ (The Greater Tunb) และเกาะทูมเล็ก (The Lesser Tunb) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณช่องแคบฮอร์มุซ เคยมีการหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นในที่ประชุม UNSC ในปี 2514 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักถือโอกาสการประชุมสันนิบาตอาหรับ (Arab League) และการประชุมกลุ่มประเทศ GCC ส่งสัญญาณทางการเมืองไปยังอิหร่านโดยขอให้อิหร่าน มีการเจรจาโดยตรงหรือนำข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ดี การที่สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของอิหร่านและมีความร่วมมือกับอิหร่านในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติแสดง ให้เห็นว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แยกแยะประเด็นการเมืองและเศรษฐกิจออกจากกันเมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชาติ

   5.4 ความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อปี 2547 และสนใจที่จะเป็นผู้นำ (Prime Mover) ในด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) การศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Education) กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Development) และการศึกษาสิ่งแวดล้อม (Environmental Education)

ที่มา: สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ – กระทรวงการต่างประเทศ (mfa.go.th) 


1496
TOP