Skip to main content

หน้าหลัก

ทำงานประเทศโอมาน

สถานการณ์ด้านแรงงานในโอมาน

 

นโยบาย Omanisation 

        รัฐบาลโอมานยังคงมุ่งผลักดันนโยบาย Omanisation โดยผู้ประกอบการ     ในแต่ละสาขาธุรกิจ จะต้องจ้างแรงงานชาวโอมานในอัตรส่วนต่อลูกจ้างทั้งหมดตามที่กระทรวงแรงงานโอมานกำหนด (อัตราส่วนมีความแตกต่างในแต่ละสาขาอาชีพ) ผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน ต้องรับโทษทั้งปรับและจำคุก รวมทั้งมีโอกาสถูกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ นอกจากนี้ กฎหมายแรงงานโอมาน ยังกำหนดให้การจ้างแรงงานต่างชาติในอัตราส่วนลูกจ้างที่จะต้องเป็นแรงงานชาวโอมาน โดยผู้ประกอบการจะต้องพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานว่าไม่สามารถหาแรงงานชาวโอมานที่มีความสามารถหรือความเชี่ยวชาญที่เพียงพอในตำแหน่งที่ต้องการจ้าง

 

การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 

         เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 คณะรัฐมนตรีโอมาน ได้มีมติเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานชาวโอมานจาก 140 ริยาลโอมาน/เดือน (ประมาณ 11,488 บาท) เป็น 200 ริยาลโอมาน (ประมาณ 16,414 บาท) ทั้นี้เพื่อบรรเทาความไม่พอใจของชาวโอมานที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างเมื่อต้นปี 2554

การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาจ้างงาน 

         เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 สุลต่านกาบุส บิน ซาอิด (Sultan Qaboos bin Said) ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกฤษฎีกา (Royal Decree) ที่ 113/2011 แก้ไขกฎหมายแรงงานในมาตราที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อาทิ สิทธิหน้าที่ขของนายจ้างและลูกจ้างในสัญญาจ้างงาน การลา กำหนดระยะเวลาทำงานต่อสัปดาห์ การจ้างสตรี และการยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับลูกจ้าง รวมทั้งการเพิ่มบทลงโทษนายจ้างที่ไม่จ้างลูกจ้างชาวโอมานในอัตราส่วนตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

แนวโน้มความต้องการแรงงานต่างชาติ      

         ถึงแม้ว่านโยบาย Omanisation เป็นนโยบายที่สำคัญของโอมาน แต่ความต้องการแรงงานต่างชาติยังอยู่ในอัตราที่สูง เนื่องจากโอมานเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีโครงการต่างๆ จำนวนมากที่ต้องอาศัยแรงงานที่มีฝีมือเฉพาะด้านจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างและภาคบริการ ซึ่งเป็นสาขาที่คนโอมานยังขาดประสบการณ์ หรือเป็นสวาขาที่คนโอมานไม่นิยมทำงาน

         สาขาอาชีพที่โอมานต้องการแรงงานต่างชาติ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมัน กิจการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว และการบริการ นอกจากนี้ การขยายเส้นทางการบินของ Oman Air ก็เป็นโอกาสของแรงงานต่างชาติอีกด้านหนึ่งเช่นกันที่จะได้เข้าไปทำงานในโอมาน

จำนวนแรงงานโดยรวม  

จำนวนแรงงานในภาคธุรกิจเอกชน (คน) รวม        1,263,412                                
ชาวโอมาน 173,242
ชาวต่างชาติ 1,090,170

 

ธุรกิจสาขาหลักที่ใช้แรงงาน    
ธุรกิจ จำนวนแรงงาน รวม  904,104
ก่อสร้าง 469,830
ซื้อขาย/ซ่อมแซมยานยนต์และเครื่องใช้สอยในบ้าน 131,924
อุตสาหกรรม 126,446
งานรับใช้ในบ้าน 105,331
เกษตรกรรม 70,573

 

 

การจ้างแรงงานไทยในโอมาน 

          สถานการณ์ในโอมานยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และยังมีแรงงานไทยเข้าไปทำงานทั้งแบบที่เดินทางอย่าถูกกฎหมายและผิดกฎหมายไม่มากนัก โทรเลขสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัตเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 ระบุว่า มีแรงงานไทยทำงานอยู่ในโอมานประมาณ 500 คน แบ่งเป็นพนักงานบริษัท พนักงานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพนักงานภาคบริการ เช่น พนักงานโรงแรม ร้านเสริมสวย นวด/สปา และพ่อครัวในร้านอาหารและโรงแรม

ค่าจ้างและสวัสดิการ 

          แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในโอมานอย่างถูกกำหมายและมีสัญญาจ้างงานถูกต้องชัดเจน จะได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ ได้แก่

          –  ค่าจ้าง ราว 150-250 ริยาลโอมาน/เดือน หรือประมาณ 12,000-20,000 บาท/เดือน ขึ้นอยู่กับความสามารถและฝีมือของแรงงานไทย

          – ที่พักอาศัย พร้อมอาหาร 3 มื้อ

          – รถรับ-ส่ง ระหว่างที่พักกับที่ทำงาน

          – การรักษาพยาบาล

          สำหรับแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในโอมานอย่างผิดกำหมาย หรือถูกต้องตามกฎหมายแต่สัญญาจ้างไม่ชัดเจน มักประสบปัญหาต่างๆ จากนายจ้าง อาทิ การไม่จ่ายค่าแรงตามกำหนดเวลา ไม่ให้สวัสดิการตามที่สัญญา ไม่ดำเนินการเพื่อให้ได้รับเอกสารการอนุญาตทำงาน (Work Permit) และการให้ลงนามในสัญญาจ้างงานฉบับใหม่เมื่อแรงงานเดินทางไปถึงโอมาน

ข้อแนะนำสำหรับแรงงานไทยในโอมาน

          – แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศโอมาน ควรศึกษาธรรมเนียมปะเพณี วัฒนธรรม สภาพอากาศ และวัฒนธรรมการทำงานก่อนการเดินทาง เพื่อการปรับตัวและการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจในการเผชิญงานและวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก

          – แรงงานไทยควรศึกษาสัญญาจ้างอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะเงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราค่าจ้าง การจ่ายค่าจ้าง เงินค่าล่วงเวลา เงินโบนัสและเงินสิ้นสุดการทำงานเมื่อครบสัญญาและกรณีที่จะต้องถูกปรับหากทำงานไม่ครบสัญญาจ้าง

          – ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายได้กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้ชัดเจนและยอมรับในความแตกต่างที่เกิดขึ้น หากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศมีความผันผวน ทำให้ขาดรายได้ไปบางส่วน ซึ่งไม่เข้าข่ายว่าเป็นความผิดของนายจ้าง

         – แรงงานไทยควรปรึกษาขอคำแนะนำจากกรมกการจัดหางานก่อนการเดินทาง เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในโอมานทั้งหมด

         – แรงงานไทยควรศึกษาช่องทางการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต และฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี โดยให้ไปหรือส่งเอกสารการรายงานตัวกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต ทันทีที่เดินทางไปถึงประเทศโอมาน เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และรับฟังคำแนะนำในการใช้ชีวิตในโอมาน นอกจากนี้ เพื่อให้ส่วนราชการไทยสามารถติดต่อให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยได้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

แนวโน้มการจ้างแรงงานไทยในโอมาน

        การจ้างแรงงานไทยในโอมานยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำมากเมื่อเทียบกับการจ้างแรงงานไทยในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์ ทั้งนี้ อาจจะเป็นผลมาจากอัตราค่าจ้างแรงงานต่างชาติจากประเทศในภูมิภาคเอเซียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เนปาล และศรีลังกา อยู่ในระดับต่ำมาก นายจ้างสามารถเลือกจ้างได้ง่ายกว่า ลงทุนน้อยกว่า และแรงงานจากชาติที่กล่าว ล้วนมีความสัมพันธ์ และวิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนาที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะแรงงานอินเดียที่มีมากที่สุดและเป็นชุมชนใหญ่ที่สุดในประเทศนี้

TOP