1. สภาพการทำงานทั่วไป
(1) สภาพการทำงานในอิหร่านโดยรวม ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีและมีความปลอดภัยสำหรับแรงงานไทย อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยอาจจะประสบปัญหาบ้างในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี และแนวปฏิบัติท้องถิ่น โดยเฉพาะแรงงานสตรี ที่ต้องประสบกับความเคร่งครัดทางสังคม อาทิ การต้องคลุมผมในที่สาธารณะ การแต่งกายที่ต้องมิดชิด ไม่มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือโทรทัศน์ดาวเทียมเพื่อดูรายการทีวีไทย ทั้งอาจเผชิญความลำบากอันเป็นผลจากความกดดันจากภายนอก อาทิ ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ และประเทศตะวันตก และการที่อิหร่านถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯและพันธมิตร ทำให้ไม่สามารถโอนเงินกลับประเทศไทยได้ เนื่องจากไม่มีธนาคารที่รับทำธุรกรรมกับอิหร่าน และทำให้ค่าครองชีพในอิหร่านถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
(2) งานนวดแผนไทย ด้วยกฎระเบียบทางสังคมที่เคร่งครัด พนักงานนวดหญิงนวดได้เฉพาะลูกค้าหญิง และผู้ชายนวดได้เฉพาะผู้ชาย สถานที่ทำงานจึงต้องแยกกันอย่างชัดเจน โอกาสที่ลูกค้าจะลวนลามหรือลักลอบค้าประเวณีเกิดขึ้นได้น้อย ทำให้พนักงานนวดไทยทำงานได้เต็มที่และสบายใจ แต่ในทางกลับกัน หากมีการกระทำผิดในลักษณะที่กล่าวข้างต้น บทลงโทษจะรุนแรงมากเช่นกัน ทางการอิหร่านมีระบบการจัดการปัญหานี้อย่างเข้มงวด และไม่ยอมยืดหยุ่นให้ สอท. ต่างชาติเข้าให้ความช่วยเหลือเท่าใดนัก
2. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เงื่อนไขการจ้างงานและสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานอิหร่าน
– อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานอิหร่าน ปี 2553 คือราว 300 เหรียญสหรัฐ ส่วนแรงงานระดับฝีมือชาวต่างชาติจะได้รับเงินเดือนสูงพอสมควรตามตำแหน่งงาน และบริษัทเกาหลีใต้ในอิหร่านมักชอบว่าจ้างแรงงานไทย เนื่องจากฝีมือดีและมีความรับผิดชอบสูง
– สวัสดิการสำหรับแรงงานอิหร่าน นายจ้างต้องทำประกันสังคมให้กับลูกจ้าง โดยนายจ้างจ่ายเงินสมทบร้อยละ 23 ลูกจ้างจ่ายร้อยละ 7 ของเงินเดือน นอกจากนี้ นายจ้างต้องออกค่าเช่าบ้านให้เดือนละ 100,000 เรียล (ราว 300 บาท) และค่าอาหารเดือนละ 100,000 เรียล
– อย่างไรก็ตาม สวัสดิการต่างๆ ข้างต้น อาจไม่ได้บังคับใช้ครอบคลุมแรงงานต่างชาติได้อย่างเคร่งครัด การจ้างแรงงานต่างชาตินั้น ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของอิหร่าน สัญญาจ้างไม่เกิน ๑ ปี นายจ้างอิหร่านจะจ้างได้ต้องสามารถยืนยันได้ว่าแรงงานอิหร่านไม่มีความชำนาญในงานดังกล่าว และแรงงานต่างชาติที่จะจ้างมีความชำนาญและสามารถฝึกสอนแรงงานอิหร่านได้
3. ผู้ประกอบการและแรงงานต่างชาติในธุรกิจนวดแผนไทย
– ขณะนี้ มีผู้ประกอบการเพียง 2 รายที่ทำธุรกิจนวดแผนไทยในอิหร่าน คือ บริษัท Apadana Tourism Caravan ของนาย Ali Azizpour ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกและผลักดันให้ทางการอิหร่านอนุญาตให้ชาวอิหร่านทำธุรกิจนวดแผนไทยได้มาตั้งแต่ต้น และมีร้านนวดแผนไทยอยู่ 5 แห่งในเกาะคิช และกรุงเตหะราน โดยจ้างพนักงานนวดไทยราว 25 คน และร้าน Mano ในกรุงเตหะราน ซึ่งเปิดกิจการเมื่อเดือนเมษายน 2555
– ในระยะที่ผ่านมา พนักงานนวดไทย บริษัท Apadana Tourism Caravan ประสบปัญหานายจ้างจ่ายเงินเดือนล่าช้า มีปัญหาการสื่อสารกับนายจ้าง การยกเลิกสัญญากระทันหัน ฯลฯ สอท. ณ กรุงเตหะรานได้เข้าไปช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดและได้รับความร่วมมือจากนายจ้างด้วยดี พร้อมให้ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกให้พนักงานนวดไทยได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วย
– แม้ว่าธุรกิจนวดแผนไทยจะกำลังเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการชาวอิหร่าน แต่ด้วยกฎระเบียบและขนบ-ธรรมเนียมประเพณีที่เคร่งครัด การนวดแผนไทยจึงยังมีความละเอียดอ่อนอยู่มาก จึงต้องเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังและตระหนักในข้อจำกัดด้วย
– ปัญหาธุรกิจนวดแผนไทยอีกประการหนึ่ง คือ การที่ผู้จัดการและต้อนรับยังไม่มีความเข้าใจศาสตร์และศิลป์ของการนวดแผนไทยอย่างแท้จริง จึงมีการแนะนำลูกค้าอย่างผิดๆ ทำให้ลูกค้ามีความคาดหวังที่คลาดเคลื่อนว่า การนวดแผนไทยจะสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้ครอบจักรวาล เมื่อไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จึงมีการต่อว่าและร้องเรียน
การที่อิหร่านมีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานท้องถิ่นและการถ่ายทอดความชำนาญในการทำงานของแรงงานต่างชาติไปสู่แรงงานอิหร่าน เป็นนโยบายที่เท่ากับกีดกันแรงงานต่างชาติ ทำให้การไปทำงานในอิหร่านของแรงงานไทยยังมีอยู่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม หากมีการส่งเสริมการจ้างงานฝีมือ และการเข้าไปประมูลงานในโครงการสำคัญๆ ก็อาจจะทำให้แรงงานไทยมีโอกาสเข้าไปทำงานในอิหร่านได้มากขึ้น